
ทราบหรือไม่ว่าเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำในกระบวนการย้อมถึง 25 ลิตร และอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบัน Fast Fashion เข้ามาเป็นตัวเร่งทำให้คนซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้นแม้ไม่จำเป็น ยิ่งทำให้ทรัพยากรถูกใช้มากขึ้นเช่นเดียวกับมลพิษในกระบวนการผลิตที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว
บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือบริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอมากว่า 30 ปี ให้ความสำคัญกับ Core Value ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่จะสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงลดการเกิดมลพิษ ต่อยอดธุรกิจสิ่งทอที่คนมักมองว่าเป็น Sunset Industry ให้สามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน
“เราเป็นบริษัทในเครือของเย่กรุ๊ปที่ทำ OEM ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 30 กว่าปี รับผลิตเสื้อผ้าตั้งแต่หัวจรดเท้า ในการทำงานส่วนใหญ่เราจะให้ Core Value กับทรัพยากรเป็นหลักทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรผู้คนของเรา ซึ่งนี่เป็นความคิดตั้งแต่รุ่นอากงแล้ว คนมักพูดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็น Sunset Industrial เราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราเป็น Sunset Industrial แบบที่คนอื่นพูด
นอกจากนี้เรายังถูกปลูกฝังมาตลอดว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ทรัพยากรน้ำค่อนข้างมาก และก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม นี่จึงเป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่เรามุ่งมั่นจะรับผิดชอบผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำให้ธุรกิจของเราให้เติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ” พิชญ์สินี เย่ Visual & Brand Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทายาทรุ่น 3 ผู้นำเทคโนโลยี Drydye เข้ามาช่วยให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ย้อนกลับไปในปี 2008 คุณพ่อของพิชญ์สินี เย่ และ กันตวัฒน์ เย่ Project Engineer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีโอกาสได้ไปดูงาน ITMA FAIR ที่สิงคโปร์ แล้วพบกับศาตราจารย์ท่านหนึ่งซึ่งนำเสนอวิทยานิพนธ์กับต้นแบบเครื่องย้อมผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำ ซึ่งเมื่อลองทำความเข้าใจดูก็ทราบว่าเทคโนโลยีที่สามารถย้อมผ้าได้ด้วยตัวกลางอย่างคาร์บอนไดออกไซด์แทนน้ำเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ
“ธุรกิจสิ่งทอเป็นธุรกิจที่ใช้น้ำค่อนข้างมาก มีงานวิจัยจาก Adidas พูดถึงเรื่องของธุรกิจสิ่งทอทั่วโลกที่ใช้น้ำทุก 2 ปี เท่ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เราจึงอยากเป็นผู้นำในด้านของการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรที่เราใช้ และเป็นเจ้าแรกที่สามารถย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ จึงเริ่มลงทุนร่วมกับศาตราจารย์ท่านนี้และก่อตั้งบริษัทขึ้นที่เนเธอร์แลนด์รวมถึงเริ่มสร้างเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้น ในปี 2010 หลังจากที่เราล้มลุกคลุกคลานมาเราก็สามารถผลิตเครื่องจักรเครื่องแรกขึ้นมาได้ซึ่งเราใช้ชื่อว่า Drydye โดยคอนเซ็ปต์ของเราคือเรานำผ้าเข้าไปย้อมแบบแห้งและนำออกมาโดยที่ผ้าก็ยังแห้งอยู่ ซึ่งนั่นทำให้กระบวนการย้อมด้วยเครื่อง Drydye ของเราไม่ต้องใช้น้ำจึงไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่ระบบ” กันตวัฒน์ เสริม
กระบวนการทำงานของ Drydye จะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 มาย้อมแทนน้ำ ทำให้ประหยัดน้ำได้ถึง 25 ลิตร ต่อการย้อมเสื้อ 1 ตัว รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีถังเก็บกักก๊าซไม่ให้ปล่อยเป็นของเสียออกสู่ในชั้นบรรยากาศ ก๊าซ CO2 สามารถนำกลับมาย้อมซ้ำได้ เมื่อต้องการใช้งานจะใช้แรงดันสูงมาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้อยู่ในรูปแบบ Supercritical Fluid หลังใช้งานเสร็จก็จะกลายเป็นสถานะก๊าซเช่นเดิม
นอกจากนี้ผงสี Pure Dyes ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งผ้าที่ผ่านการย้อมสีด้วยก๊าซ CO2 จะใช้พลังงานลดลงถึง 50% รวมถึงลดการปล่อย CO2 ลง 50-75% เพราะการย้อมสีทั่วไปจะปล่อย CO2 ออกมา 517 กก. ในขณะที่ Drydye ปล่อย CO2 เพียง 137 กก.และ 90% ที่ปล่อยออกมาสามารถนำไป รีไซเคิลได้
แม้ว่าในแง่ของนวัตกรรมจะมีความโดดเด่นและรักษ์โลกซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่คุณพิชญ์สินีมองว่า Drydye ต้องมีวิธีในการสื่อสารแบรนด์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการจดจำที่มากกว่าแค่การเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้โดยแบรนด์ใหญ่เท่านั้น
“เราพยายามให้คนรับรู้ถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้กลายเป็นมาตรฐานที่พอคนนึกถึงเรื่องของการย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำก็จะนึกถึง Drydye เพราะก่อนหน้านี้เราจับมือนำเทคโนโลยีของเราไปใช้กับแบรนด์ดัง แต่การสื่อสารผ่านแบรนด์เหล่านั้นไม่ได้เป็นการสื่อสารโดยตรงถึงนวัตกรรม Drydye ถ้าเราสื่อสารแบรนด์ Drydye ให้ชัดเจนจะทำสามารถขยายการรับรู้ได้มากขึ้น”
ดังนั้นเรื่องของการการขยายฐานไปสู่กลุ่ม B2C เป็นเรื่องสำคัญ โดยคุณพิชญ์สินีเสริมว่าการใช้ความถนัดและความเชี่ยวชาญในการทำเสื้อผ้ากีฬาให้มีสไตล์ที่หลากหลายมากขึ้นจะทำให้คนทั่วไปมองเห็นว่าสิ่งที่เขาใส่สามารถสร้าง Impact ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมได้
“เราต้องการให้คนพูดถึงเราและเทคโนโลยีของเรามากขึ้น เพื่อเดินหน้าไปใน Business Model ที่ไม่ได้แค่ทำเสื้อผ้าแต่ยังสามารถรับคืนกลับมาผ่านกระบวนการย่อยสลายแล้วกลับไปทำใหม่เป็นเส้นด้าย โดยที่ไม่จำเป็นต้องทอผ้าใหม่ เพราะในปัจจุบันบนโลกนี้มี เสื้อผ้าเยอะกว่าความจำเป็นมากอยู่แล้ว”
ปัจจุบัน Drydye สามารถผลิตชุดกีฬาและชุดชั้นในให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากมาย เช่น Adidas, Mizuno รวมถึงผลิตเสื้อวิ่งให้กิจกรรมวิ่งขององค์กรต่างๆ เช่น TMB จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เป็นต้น
ในอนาคต Drydye ต้องการที่จะสื่อสาร Brand Story โดยเน้นเรื่องของการเป็น Environmental Friendly Brand และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับผ้าในส่วนอื่นๆ ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์โดยค่อยๆให้ข้อมูลเพื่อสร้าง Awareness ให้คนซึมซับในสิ่งที่ Drydye ทำ โดยเจาะกลุ่มเป้าหมาย Gen Y และ Gen Z ที่ให้ความใส่ใจกับคุณค่าของสินค้าว่าสร้างผลกระทบอะไรกับโลกมากกว่าจำนวนงานที่จ่ายในแต่ละครั้ง
เป้าหมายในปีนี้ของ Drydye คือเดินหน้าทำการตลาดและประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้าง Brand Awareness ให้ ลูกค้าจดจำแบรนด์ Drydye ว่าเป็นแบรนด์ที่ช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมองถึงเป้าหมายในการขยาย ลูกค้ากลุ่ม Consumer และพัฒนาสินค้าไปเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจเสื้อผ้า
กรณีศึกษาของ Drydye จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของ SMEs ในการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การทำธุรกิจแบบยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสบนโลกใบนี้ ทั้งที่มาจากบริษัทผู้ผลิตเอง และมาจากเรียกร้องของจากทางผู้บริโภคซึ่งนับวันเสียงนี้จะดังขึ้นทุกวัน
SMEs รายไหนที่ซัพพลายเชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นปรับตัวอย่างไร สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หัวข้อที่ 12 การผลิตและการบริธภคที่ยั่งยืนได้ที่ www.sdgs.nesdc.go.th/
For more information:
https://www.smeone.info/posts/view/4919